ท้าวมหาพรหม

ในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า พระผู้เป็นเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับมนุษย์มี 3 องค์ เรียกว่า “ตรีมูรติ” ได้แก่ พระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม ถือกันว่าพระพรหมนั้นเป็นผู้สร้าง เป็น “สยมภู” คือเกิดเองได้ เรื่องการกำเนิดพระพรหมนั้นมีตำนานเล่าไว้มากมายหลายเรื่อง
ฝ่ายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุดก็เล่าว่า ตอนที่โลกว่างเปล่าเป็นอากาศธาตุนั้น พระเวทย์ทั้งหลายได้มาชุมนุมกันเกิดเป็นพระผู้เป็นเจ้าขึ้นองค์หนึ่ง มีพระนามว่าพระปรเมศวรหรือพระศิวะ พระศิวะเอาพระหัตถ์ลูบพระอุระ แล้วสะบัดออกไปเบื้องหน้าพระพักตร์ ก็บังเกิดเป็นพระอุมาเทวี พอเอาพระหัตถ์ซ้ายลูบพระหัตถ์ขวาก็บังเกิดเป็นพระนารายณ์ และเมื่อเอาพระหัตถ์ขวาลูบพระหัตถ์ซ้ายก็บังเกิดเป็นพระพรหมขึ้นมามีหน้าที่สร้างโลกสร้างมนุษย์ พรหมจึงมีกำเนิดมาจากพระศิวะ
ส่วนฝ่ายที่นับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุดก็มีตำนานเล่าว่า พระพรหมเกิดอยู่ในดอกบัวที่ผุดขึ้นมาจากสะดือของพระวิษณุขณะที่พระองค์หลับอยู่บนหลังพระยาอนันตนาคราชที่เกษียรสมุทร พรหมจึงมีกำเนิดมาจากพระวิษณุ
ส่วนอีกตำนานหนึ่งก็เล่าว่า เมื่อครั้งที่ยังไม่มีโลกมีแต่ความมืดมิด พระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีลักษณะ “สยมภู” คือกำเนิดขึ้นมาเองได้ปรากฏขึ้นแล้วสร้างน้ำ หว่านพืชลงในน้ำ จากพืชก็กำเนิดเป็นไข่ทองเรียกว่าหิรัณยครรภ์ ภายในไข่นั้นคือพระพรหม ไข่นั้นคือจักรวาลกับโลก เวลาผ่านไปหลายกัปกัลป์ ไข่ก็แตกออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งลอยขึ้นไปเป็นท้องฟ้า อีกซีกหนึ่งลงต่ำกลายเป็นแผ่นดิน จากนั้นพระพรหมก็ก่อเกิดรูปกายขึ้น และเนรมิตสตรีเพศในยาม “สรัสวดี” ซึ่งต่อมากลายเป็นมเหสีและร่วมกันสร้างสัตว์ พืชพันธุ์ เทวดา อสูร และมนุษย์ขึ้นมา
เรื่องราวของพระพรหมได้ผสมผสานเล่าขาน สืบต่อกันมา ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีประวัติกล่าวไว้ในหนังสือ และคัมภีร์ของศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ การกำเนิดพระพรหมของพระพุทธศาสนาสืบเนื่องมาจาก พระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทพยดา พระราชา พราหมณ์ปุโรหิต พระโยคี พระฤาษี ชีพราหมณ์ พระภิกษุสามเณรผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ และมีความเพียรกล้า ศรัทธาปรารถนาเพื่อการหลุดพ้นจากกิเลส จึงตั้งใจบำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐานอย่างสม่ำเสมอ จนสำเร็จฌานในขั้นต่าง ๆ ที่ได้บรรลุแล้วนั้น เมื่อสิ้นอายุขัย จะนำตนไปเกิดยังเทวโลก และพรหมโลก ครั้นเมื่อไปเกิดยังพรหมโลกแล้ว ไม่มีความเดือดร้อนใด ๆ ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับโลกภายนอก ไม่ต้องขับถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะอันลามก มีแต่ความสุขสบาย เสวยพรหมสมบัติ วิมารทิพย์ ปราสาททิพย์ กายทิพย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ เสวยอาหารทิพย์ เป็นเวลานานแสนนานตราบสิ้นอายุขัยของพระพรหม ในพรหมโลกสรีระร่างกายของพระพรหม เป็นรูปทิพย์ที่งามสง่า อวัยวะร่างกาย ข้อศอก แขน ขา เข่า ไหล่ ไม่มีรอยต่อ มีลักษณะกลมเกลี้ยงสวยงาม มีรัศมีกายรุ่งโรจน์ประภัสสร เจิดจ้างดงามยิ่งกว่า แสงพระอาทิตย์ และพระจันทร์ สำหรับท้าวมหาพรหมณ์ คือพระพรหมที่สถิตอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ 3 มหาพรหมาภูมิ ซึ่งเป็นประมุขแห่งพระพรหมในชั้นปฐมฌาน มหาพรหมาภูมิมีพระพรหมอยู่เป็นจำนวนนับล้านองค์ แต่ท้าวมหาพรหมที่รู้จักกันในศาสนาพราหมณ์นั้น มีเพียงไม่กี่องค์ ได้แก่ พระพรหมธาดา ท้าวกบิลพรหม ท้าวพกาพรหม เป็นต้น ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และมีอานุภาพมากมายนานาประการ การสร้าง เทวรูปของท้าวมหาพรหมณ์ นิยมสร้างสี่หน้า สี่มือ หรือแปดหน้า แปดมือ ถือของต่าง ๆ กันเช่น ช้อนตักไขเนยลงในไฟ หม้อน้ำสำหรับใส่น้ำจากแม่น้ำคงคา คัมภีร์พระเวท เทพศาสตรา คทาอาญาสิทธิ์ ศรและลูกธนู พระศอคล้องประคำ พระวรกายสีแดงหรือสีขาว ปัจจุบันนิยมสร้างมีกายเป็นสีทอง มีม้าหรือหงส์เป็นพาหนะการกำหนดอายุพระพรหมในพรหมโลกแต่ละชั้นไม่เท่ากัน มีอายุยืนยาวนานเป็นกัลป์ อสงไขยกัลป์ อันตรกัลป์ ภัทรกัลป์ และมหากัลป์ แต่ได้ประมาณเอาไว้ว่า 1 กัลป์เท่ากับ 12,000,000 ปีสวรรค์ และ 1 ปีสวรรค์ เท่ากับ 360 ปีมนุษย์โลก
พระพรหมนั้นมีน้ำพระทัยเยือกเย็น มีคุณธรรมสูงสุด เปี่ยมด้วยมโนจริยา 4 ประการ คือความ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งตรงกับหลักคำสอนเรื่อง “พรหมวิหาร 4” ในพุทธศาสนา นอกจากท่าน จะสร้างโลกแล้ว ยังเป็นผู้สร้างสวรรค์และมนุษย์อีกด้วย
พระพรหมทรงหงส์เป็นพาหนะ มีวรกายเป็นสีแดง มี 4 กร ถือธารพระกรไม้เท้า ช้อน หม้อ และคัมภีร์ มีประคำคล้องพระศอ แต่เดิมนั้นมี 5 เศียร แต่ละเศียรหันไปยังทิศทั้งสี่ เศียรที่ห้าอยู่บนยอด เรียกว่า “พรหมปัญจมุข”
พระพรหม คือ พระเจ้าผู้สร้าง ผู้ลิขิตความเป็นไปของทุกสรรพสิ่ง เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกคน พระพรหมจึงเป็นผู้รู้ความเคลื่อนไหวของสรรพชีวิต เหตุการณ์สำคัญของโลกล้วนอยู่ในสายตาของพระพรหม พระพรหมคือมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่หนึ่งในสามตรีมูรติ ทรงรับฟังคำอธิษฐานของผู้ศรัทธาเสมอ ผู้บูชาพระพรหมและทำความดี จะได้รับการบันดาลพรให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา
พระพรหม มีพระนามหลากหลาย เช่น พระพรหมมา พระพรหมา พระพรหมธาดา ท้าวมหาพรหม ปชาบดี อาทิกวี อาตมภู โลกาธิปดี ฯลฯ
พระพรหม เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างสรรค์ ทรงมีอานุภาพในการลิขิตชะตาชีวิต โดยควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎแห่งกรรม พระพรหมจึงเป็นผู้คุ้มครองคนดี และลงโทษผู้กระทำบาป ผู้มีกิเลสตัณหา จะถูกพระพรหมลิขิตให้ชีวิตมีแต่ความลำบากยากเข็ญ ผู้มีจิตใจเอื้ออารีย์ต่อผู้อื่น พระพรหมจะบันดาลให้มีความสุขและสมบูรณ์ในชีวิต การเสียสละต่อส่วนรวมคือการถวายความจงรักภักดีต่อพระพรหม พระพรหมจะบันดาลพรให้ผู้เสียสละนั้นมีแต่ความสุขตลอดกาล
ผู้ศรัทธาในพระพรหม เมื่อสวดบูชาต่อพระองค์แล้ว พระองค์จะประทานปัญญาในการประกอบอาชีพ ปกป้องให้ห่างจากศัตรู ประทานความแข็งแรง ความรู้แจ้ง ชี้แนะแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ และมอบความบริสุทธิ์ทางจิตวิญญาณแก่ผู้นั้น
พระพรหมทรงโปรดความเงียบสงบ ไม่วุ่นวาย มีพระทัยอ่อนโยน รักสรรพชีวิตที่พระองค์สร้างมาเสมอ เมื่อผู้ศรัทธาต้องการสักการะ พระพรหมก็โปรดการจัดการอย่างเรียบง่าย มีความตั้งใจ แต่ไม่ใหญ่โตวุ่นวาย พระองค์โปรดให้ลูกศิษย์สวดภาวนาว่า "สัก ชิต เอกัม พรหมมา" หรือ "โอม อาฮัม พรหมมา อัสมิ" เป็นร้อยๆ พันๆ หมื่นๆ แสนๆ เที่ยว และให้นั่งสมาธิตั้งจิตเพ่งไปที่พระองค์ การที่ผู้ศรัทธาได้อยู่กับพระพรหมตามลำพัง นั่งสมาธิและสวดภาวนาให้นานที่สุด พระองค์จะโปรดมาก เพราะพระองค์ทรงสอนว่า การนั่งอยู่กับที่และระลึกถึงพระองค์ บริโภคมังสวิรัติ ไม่ออกไปสร้างสิ่งเดือดร้อนให้ผู้อื่น คือการตอบแทนพระคุณพระพรหมได้ดีที่สุด
ในคติพุทธศาสนา พระพรหม เป็นชาวสวรรค์ชั้นสูงขั้นหนึ่งที่สูงกว่าเทวดาทั่วไป เรียกว่า "พรหม" พระพรหมยังอยู่ในกามาวจรภพ มีการวนเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในสวรรค์ที่เรียกว่าชั้นพรหม (พรหมภูมิ)
พระพรหมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พรหมที่มีรูป เรียกว่า "รูปพรหม" มีทั้งหมด 16 ชั้น และพรหมที่ไม่มีรูป เรียกว่า "อรูปพรหม" มีทั้งหมด 4 ชั้น โดยอรูปพรหมจะสูงกว่ารูปพรหม
รูปพรหม 16 ชั้น
1. พรหมปาริสัชชาภูมิ
2. พรหมปุโรหิตาภูมิ
3. มหาพรหมาภูมิ
4. ปริตตาภาภูมิ
5. อัปปมาณาภาภูมิ
6. อาภัสราภูมิ
7. ปริตตสุภาภูมิ
8. อัปปมาณสุภาภูมิ
9. สุภกิณหาภูมิ
10. เวหัปผลาภูมิ
11. อสัญญีสัตตาภูมิ
12. อวิหาสุทธาวาสพรหมภูมิ
13. อตัปปาสุทธาวาสพรหมภูมิ
14. สุทัสสาสุทธาวาสพรหมภูมิ
15. สุทัสสีสุทธาวาสพรหมภูมิ
16. อกนิฏฐสุทธาวาสพรหมภูมิ
อรูปพรหม 4 ชั้น
1. อากาสานัญจายตนภูมิ
2. วิญญาณัญจายตนภูมิ
3. อากิญจัญญายตนภูมิ
4. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
"พระพรหม" ในทางพระพุทธศาสนา เป็น "พระพรหมผู้วิเศษ" ล้วนแต่บุรุษเพศทั้งสิ้น ไม่ต้องกินไม่ต้องบริโภคอาหาร เหมือนสัตว์ในภูมิอื่น ด้วยว่าแช่มชื่นอิ่มเอิบโดยมีฌานสมาบัติเป็นอาหาร จึงไม่ต้องมีการถ่ายคูตรมูถ คืออุจจาระ ปัสสาวะอันลามกเหม็นร้าย สรีระร่างกายหน้าตาแห่งบรรดาพระพรหมนั้น มีสัณฐานกลมเกลี้ยงสวยงามนัก มีรัศมีออกจากกายตัวเลื่อม ประภัสสรรุ่งเรืองกว่ารัศมีพระอาทิตย์ และพระจันทร์ หลายพันเท่า เพียงแต่หัตถ์หนึ่งเล่าอันพระพรหมทั้งหลายเหยียดยื่นออกไปหวังจะให้ส่อง รัศมีไปทั่วห้วงจักรวาลก็ย่อมจักทำได้ อวัยวะร่างกายที่ต่อกัน คือ หัวเข่าก็ดี แขนก็ดี มีสัณฐานกลมเกลี้ยงเรียบงามนัก จักได้เห็นที่ต่อกันนั้นหามิได้ เกศเกล้าแห่งพระพรหมทั้งหลายนั้นงามนัก ปรากฏโดยมากมีศีรษะประดับด้วยชฎา สถิตย์เสวยสุขพรหมสมบัติอยู่ ณ พรหมภูมิที่ตนอุบัติตราบจน กว่าจะสิ้นอายุ ซึ่งเป็นเวลานานแสนนาน
พรหมอุบัติ (ในทางพระพุทธศาสนา) พระพรหม เกิดจากท่านผู้มีความเพียรกล้า ทรงไว้ซึ่งปัญญาเกินสามัญชน ปรารถนาจะพ้นจากกิเลสานุสัย เพราะเห็นว่ามีโทษพาให้ ยุ่งนัก ใคร่จักห้ามจิตมิให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลส จึงสู้อุตสาหะพยายามบำเพ็ญสมถภาวนา ตามที่ท่านบุรพาจารย์สั่งสอนกันสืบๆ มา บางพวกเป็นชีป่าดาบส บางพวก ทรงพรตเป็นโยคี ฤๅษีในสมัยที่มีพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ในโลก บางพวกก็เป็นพระภิกษุสามเณร ต่างบำเพ็ญสมถภาวนา จนได้สำเร็จฌาน ครั้นถึงกาลกิริยาตายจากมนุษย์โลก จึงตรงไปอุบัติเกิดในพรหมวิมาน ณ พรหมโลก อันเป็นแดนซึ่งมีแต่สุขไม่มีเรื่องกามเข้าไปเกี่ยวข้อง ตามอำนาจฌานที่ได้บรรลุเป็นพระพรหมผู้วิเศษ
พระพรหมมีชื่อเรียกอื่นในภาษาไทยเช่น จตุรพักตร์ (4 หน้า), ธาดาบดี (ผู้สร้าง), หงสรถ (มีหงส์เป็นพาหนะ), ปรเมษฐ์ (ผู้สูงสุด) เป็นต้น
ส่วนท้าวมหาพรหม ก็คือ พระพรหมที่อยู่บนพรหมโลกชั้นที่ 3 มหาพรหมาภูมิ เป็นประมุขแห่งพระพรหมในชั้นปฐมฌาน มหาพรหมาภูมิมีพระพรหมอยู่นับล้านองค์ แต่ท้าวมหาพรหมที่รู้จักกันในศาสนาพราหมณ์มีเพียงไม่กี่องค์ ได้แก่ พระพรหมธาดา ท้าวกบิลพรหม ท้าวพกาพรหม ฯลฯ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และอานุภาพมากมาย
ด้วยความเชื่อที่ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง จึงได้มีอิทธิพลสูงสุดต่อความเป็นมนุษย์ ถึงกับว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนเราต้องมีคำว่า “พรหม” ร่วมด้วยเสมอ เช่น พรหมลิขิต พรหมชาติ พรหมทัณฑ์ พรหมจารี ฯลฯ
นี่จึงเป็นเหตุให้คนเราเกรงกลัวอำนาจเหนือธรรมชาติของพระพรหม จึงเกิดการบนบานศาลกล่าวกับพระพรหมเพราะเชื่อว่าท่านบันดาลให้ความต้องการสำเร็จลงได้ ทำให้มีการบนและการแก้บนในเวลาต่อมา
นอกจากกำเนิดของพระพรหมแล้ว มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องบางส่วนของท้าวมหาพรหมกับพุทธศาสนาด้วย มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีเทวดา 5 องค์ คือ สาตาคิรายักษ์ อสุรินทราหู ท้าวมหาราช ท้าวสักกะ และท้าวมหาพรหม ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าจนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ถึงกับเปล่งวาจาขึ้น โดย สาตาคิรายักษ์เปล่งวาจาว่า นะโม อสุรินทราหู เปล่งวาจาว่า ตัสสะ ท้าวมหาราชเปล่งวาจาว่า ภะคะวะโต ท้าวสักกะเปล่งวาจาว่า อะระหะโต และท้าวมหาพรหมเปล่งวาจาว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ จึงเกิดบทสวดมนต์นมัสการพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่บัดนั้น
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่เล่าถึงพระคุณของท้าวมหาพรหม เรื่องมีอยู่ว่าพระวิปัสสีพุทธเจ้าเมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็เห็นควรแสดงธรรม แต่ทรงคิดว่าธรรมที่บรรลุนั้นลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่ใช่วิสัย เป็นตรรกะ มีความละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ผู้คนทั่วไปคงเรียนรู้และเข้าใจหลัก ธรรมคำสอนด้วยความยากลำบาก ถ้าแสดงธรรมไป ผู้อื่นไม่เข้าใจ ก็จะเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า ๆ แต่ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งได้ประนมมือกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงโปรดแสดงธรรม โดยกล่าวว่า ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มี กิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ในปัญญา สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม และเหล่าสัตว์ที่อาจจะรู้ธรรมได้นั้นก็ยังมีอยู่ พระพุทธองค์ฟังดังนั้นจึงได้ทรงแสดงธรรม
ด้วยเหตุนี้ จึงนับว่าท่านท้าวมหาพรหมมีพระคุณแก่มวลมนุษย์อยู่มากที่ทรงทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม ดังนั้นเวลาไปงานศพก่อนพระจะสวดพระอภิธรรม จึงมีบทอาราธนาธรรม พรหมา จะโลกา ธิปปะติ ฯลฯ นี่จึงเป็นที่มาของการอาราธนาธรรม
การบูชาพระพรหมควรจะมีวิธีการบูชาที่ถูกต้องเพราะองค์พระพรหมท่านมี 4 พักตร์ 4 ทิศ ฉะนั้นการบูชาก็ควรบูชาให้ครบทั้ง 4 พักตร์ 4 ทิศ วิธีการบูชาพระพรหม เรามักจะไหว้ธูป 9 ดอก เทียน 2 เล่ม และบูชาเฉพาะพระพักตร์เดียว การไหว้แบบนี้ไม่ผิด แต่เราจะได้พรเพียงเรื่องเดียวจากท่าน การที่จะได้รับพรครบทุกประการจำเป็นต้องมีวิธีการและต้องขอพรให้ถูกหน้าทุกพระพักตร์ อย่างแรกต้องเตรียมของในการสักการะพระพรหมให้ครบ 4 ธาตุก่อน ธาตุที่ว่ามี ดิน น้ำ ลม ไฟ
ธาตุดินคือดอกบัว
ธาตุน้ำคือน้ำสะอาด
ธาตุลมคือธูป
ธาตุไฟคือเทียน
การสักการะองค์พระพรหมเริ่มจากพระพักตร์แรกและ เวียนขวามือของเรา ซ้ายมือของท่านจนไปถึงหน้าสุดท้าย การขอพรทุกพักตร์จะมีความหมายต่างกัน
พระพักตร์แรก ใช้ธูป 16 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด
พระพักตร์แรกให้ขอเกี่ยวกับเรื่องการงาน การเรียน สิ่งที่ต้องรับผิดชอบในชีวิต การสอบ ขอเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งงานและความก้าวหน้าในชีวิต
พระพักตร์ที่สอง ใช้ธูป 36 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด
พระพักตร์ที่สองขอเกี่ยวกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ เรื่องเงินๆทองๆ ที่ดิน บ้าน คอนโด รถยนต์ อยากมีหรืออยากได้ให้ขอหน้านี้ รวมทั้งหนี้สินที่มีคนยืมไปแล้วไม่คืน
พระพักตร์ที่สาม ใช้ธูป 39 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด
พระพักตร์ที่สามให้ขอเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ คู่ชีวิต ครอบครัว ญาติพี่น้อง เรื่องเกี่ยวกับพ่อแม่ คู่สัญญา หุ้นส่วน ความมั่นคงของชีวิต
พระพักตร์ที่สี่ ใช้ธูป 19 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด
พระพักตร์ที่สี่ขอเกี่ยวกับเรื่องโชคลาภ สิ่งที่ได้มาโดยบังเอิญ การขอกู้ยืมเงิน เรื่องของบุตร
คาถาบูชาองค์ท้าวมหาพรหม (ท่องนะโม 3 จบ)
โอมปะระเมสะนะมัสการัม องการะนิสสะวะรัง พรหมเรสสะยัม ภูปัสสะวะ วิษณุไวยะทานะโมโทติลูกปัม ทะระมายิกยานัง ยะไวยะลา คะมุลัมสะทานันตะระวิมุสะตินัน นะมัตเต นะมัตเตรจะ อะการัง ตะโถวาจะ เอตามาตาระยัต ตะมันตะรามา กัตถะนารัมลา จะสะระวะปะติตัม สัมโภพะ กลโล ทิวะทิยัม มะตัมยะ
หรือ คาถาอีกบทหนึ่งว่าดังนี้ (ท่องนะโม 3 จบ)
โอม พรหมา ปฏิพาหายะ
ทุติยัมปิ พรหมา ปฏิพาหายะ
ตะติยัมปิ พรหมา ปฏิพาหายะ
----------------------------------------------------------------------------------------------
บทที่ ๑ - ยุคพราหมณะ
ต่อจากยุคคัมภีร์พระเวท เมื่อชาวอารยันอพยพเลื่อนจากแม่น้ำสินธุลงมาในภาคกลางของอินเดีย คือลุ่มแม่ น้ำคงคา
เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นอยู่สบายแล้วก็ได้ตั้งแว่นแคว้นขึ้น เป็นรากฐานทางสังคมฮินดูเรียบร้อยแล้ว
ก็มีวิวัฒนาการทางความคิด คือมีพวกปุโรหิตอีกพวกหนึ่งเห็นว่า คัมภีร์เวทเหล่านั้นคำสวดต่าง ๆ มีมากมายเหลือเกิน
และบางทีคำสวดเหล่านั้นจะต้องทำคำอธิบาย ด้วยว่า ต้องอธิบายการบูชาอย่างไร จึงจะได้ผลอย่างนั้น ๆ
พวกปุโรหิตพวกนี้จึงได้แต่งคัมภีร์อรรถกถาคัมภีร์เวท ให้ชื่อว่า "พราหมณะ"
ในสมัยพราหมณะนี้พราหมณ์ได้คิดสร้างเทพเจ้าที่พิเศษขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง คือ พระพรหม เนื่องจากพระอินทร์แม้จะเป็น
เทพเจ้าชั้นสูงเป็นผู้สร้างโลกสร้างสรรพสิ่งก็จริง แต่มีผู้นับถือเคารพบูชาน้อยลง และไม่สามารถจะอำนวยประโยชน์แก่
ประชาชนได้อย่างแท้จริง ส่วนเทพเจ้าผู้สร้างโลก และสรรพสิ่งในโลกนั้นคือพระพรหม โดยถือกันว่าพระพรหมเป็นเทพ
เจ้าผู้บริสุทธิ์ เพราะไม่มีตัวตน ไม่มีลูก ไม่มีเมีย ไม่เกี่ยวข้องทางกามารมณ์เหมือนพระอินทร์ แล้วประกาศแก่ประชาชน
ทั้งหลายพูดว่า พระพรหมนั้นไม่ทำความเสียหายเหมือนพระอินทร์แน่นอน เพราะว่า พระพรหมนั้น เป็นเพียงสภาวธรรม
เท่านั้นในคัมภีร์อุปนิษัทมีการพูดถึง พระพรหมไว้เป็น ๒ ลักษณะ๑ คือ
ลักษณะที่หนึ่ง พูดถึงพระพรหมในแง่โลกียะ (Cosmic) ซึ่งในแง่นี้พระพรหม เป็นสิ่งที่ประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่ดี
ทั้งปวง (สคุณะ) และถึงพร้อมด้วยคุณวิเศษทุกอย่าง (สวิเศษะ) พระพรหมในลักษณะนี้เรียกว่า อปรพรหม หรือ อีศวร
อปรพรหม หรือ อีศวรเป็นภาคปุคคลาธิษฐานของสิ่งสัมบูรณ์เป็นพระเป็นเจ้าที่มีตัวตนหรือรูปร่างอย่างมนุษย์
ลักษณะที่สอง พูดถึงพระพรหมในแง่โลกุตตระ (Acosmic) ในแง่นี้พระพรหมคือสิ่งสัมบูรณ์พระพรหมในลักษณะนี้เรียกว่า
ปรพรหม เป็นภาค ธรรมมาธิษฐาน ของพระเป็นเจ้าซึ่งได้แก่ สิ่งสัมบูรณ์นั่นเอง ที่ปราศจากคุณลักษณะทุกอย่าง (นิรคุณะ)
ปราศจากคุณวิเศษทั้งปวง (นิรวิเศษะ) และไม่อาจใช้คำพูดหรือภาษาพูดบรรยายได้ (อนีรวจนียะ) พระพรหมในแง่โลกุตตระนี้
มีชื่อเรียกว่า ปรพรหม เป็นสิ่งสัมบูรณ์ซึ่งดำรงรงอยู่ในฐานะ อุตตรภาวะ เป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้ และอธิบายไม่ได้
ปรพรหม หรือ พรหมัน ในสถานะนี้เป็น มูลการณะ ของสรรพสิ่ง เป็นปฐมเหตุของสรรพสิ่ง แม้แต่พระเจ้าสูงสุดที่เรียกว่า อีศวร
ก็เป็นการสำแดงให้ปรากฏของสิ่งสมบูรณ์นี้ วิธีเดียวที่จะอธิบายเกี่ยวกับลักษณะของ พระพรหมได้ก็คือโดยการปฏิเสธ
อย่างเช่นที่ ยาชญวัลกยะ กล่าวไว้ปรากฏอยู่ใน พฤหทารัณยกอุปนิษัท ว่า
"สิ่งซึ่งไม่มีเสื่อมสลายที่ผู้ฉลาดเคารพบูชานี้ เป็นสิ่งที่ไม่หยาบ ไม่ปราณีต ไม่สั้น ไม่ยาว ไม่มีเงา ไม่มีความมืด ไม่มีอากาศ
ไม่มีช่องว่าง ไม่มีอุปาทาน ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีรูป ไม่มี คำพูด ไม่มีจิต ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีลมหายใจ ไม่มีหู ไม่มีปาก ไม่มี
ข้างนอกข้างใน ไม่กินอะไรและ ไม่มีอะไรจะกินมัน....."
รวมความว่า ในสมัยพราหมณะนี้ พระพรหมได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง
สรรพสิ่งมาจากพระพรหม สัตว์โลกทั้งมวลมาจากพระพรหม พระพรหมเป็นปรมาตมัน เป็นอัตตาสูงสุด เป็นอมตะมองเห็นด้วย
สายตาไม่ได้ เป็น อนาทิ ไม่มีเบื้องต้น และเป็น อนันตะ ไม่มีที่สุด เป็นเบื้องต้นแห่งปฐมวิญญาณทั้งปวง
แต่ถึงกระนั้น การที่พราหมณ์สร้างพระพรหมที่เรียกว่า ปรพรหม ให้ไม่มีเนื้อ มีตัวนั้น มีลักษณะเป็นจิต และจิตก็ไม่มีรูปร่าง
อย่างมนุษย์ เมื่อเทพเจ้ามีลักษณะเป็นจิต การบวงสรวงบูชาเพื่อขอให้อำนวยผลประโยชน์ต่าง ๆ ย่อมไม่สามารถกระทำได้
ไม่เป็นที่ชอบใจของคนทั่วไปเท่าใดนัก คนไม่เห็นด้วย เพราะไม่สามารถจะบูชา ปรพรหม ซึ่งเป็นสภาวธรรมนั้นได้ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร
ดังนั้น เพื่อให้ตรงกับความประสงค์ของประชาชน พราหมณ์จึงแก้ไขเรื่องพรหมอีกนิดหน่อย แก้ไขจาก ปรพรหม มาเป็น อปรพรหม
อปรพรหมก็คือพรหม หรืออิศวร เป็นเทพเจ้าที่มีตัวมีตน ไม่เป็นนามธรรมเหมือนอย่าง ปรพรหม สามารถจะอำนวยประโยชน์แก่
ผู้เคารพบูชาได้ แล้วจึงประกาศแก่ประชาชนว่า ความจริงพระพรหมนั้นมีตัวตนและมีถึง ๔ หน้า สามารถมองดูทิศทั้ง ๔ ได้ในเวลา
เดียวกัน และดูความเป็นไปของชาวโลกได้ทุกหนทุกแห่งพร้อมกันได้
เมื่อพระพรหมมีตัวตน และยังมีถึง ๔ หน้าอีก ซ้ำยังไม่มีภรรยา ไม่ยุ่งเกี่ยวข้องด้านกามารมณ์เหมือนพระอินทร์ ประชาชนต่างก็นิยม
ชมชอบพอใจ แนวความคิดของพราหมณ์ที่สร้างพระพรหมเป็นที่พอใจของประชาชนนี้ ทำให้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูยิ่งใหญ่และมี
อิทธิพลเหนือจิตใจของชาวอินเดียอย่างไม่เสื่อมคลาย
พราหมณ์ได้กำหนดหน้าที่ คือสร้างเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นมา ๓ องค์ คือ
๑. พระพรหม ผู้สร้าง (Creator)
๒. พระวิษณุ หรือ นารายณ์ ผู้รักษา (Preserver)
๓. พระศิวะ หรือ อิศวร ผู้ทำลาย (Destroyer)
เทพเจ้าทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า "ตรีมูรติ" แปลว่า สามรูป ในคัมภีร์พระเวท พระพรหมได้สร้างมนุษย์ในระบบวรรณะ ๔ ไว้เพื่อสันติ
จากอวัยวะต่าง ๆ ของพระองค์เอง ดังนี้
๑. ทรงสร้างพราหมณ์ จากพระโอษฐ์ของพระองค์
๒. ทรงสร้างกษัตริย์ จากพระพาหา (แขน) ของพระองค์
๓. ทรงสร้างแพศย์ (พวกพ่อค้า) จากพระโสณี (ตะโพก)
๔. ทรงสร้างศูทร (กรรมกร) จากพระบาท
ด้วยเหตุนี้เอง ระบบชนชั้น หรือระบบวรรณะ ๔ ในสังคมอินเดียจึงมีมาตั้งแต่ยุคพราหมณะ ในอดีตเรื่อยมา จนมาถึงปัจจุบันนี้
ไม่มีใครจะสามารถทำลายล้างได้ คงจะมีอยู่ตลอดไปตราบนาน เท่านาน
ใน ยุคพราหมณะนี้ เมื่อแนวความคิดของพราหมณ์ที่สร้างพระพรหมจนเป็นที่พอใจของประชาชนทั่วไป ทำให้พราหมณ์คาดหวัง
ผลอันยิ่งใหญ่ในศาสนาของตน จึงได้สร้างลัทธิพิเศษขึ้นมาอีก
ลัทธินับถือยกย่องเพศพรหมจรรย์
ตามแนวความคิดเดิมของพราหมณ์ก็อยู่กันเป็นครอบครัว สามีเป็นพราหมณ์ ภรรยาเป็นนางพราหมณี มีบุตรหลานสืบสกุลต่อไป
และสามารถประกอบอาชีพได้ด้วย แต่เมื่อมีแนวความคิดที่สร้างพระพรหมไม่ให้มีเมียขึ้นมา และไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณ ทำให้เป็น
ผู้บริสุทธิ์กว่าเทพเจ้าทั้งหลาย เช่น พระอินทร์เป็นเทพเจ้าที่มีเมียมาก ความเสียหายทางกามคุณก็เกิดขึ้น เพราะความไม่อิ่มทาง
กามารมณ์ ถึงกับไปทำชู้กับภรรยาของฤาษี ประชาชนรังเกียจเทพเจ้าที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อย มีความประพฤติเหมือนคนธรรมดา
จึงหันไปยกย่องนับถือพระพรหมที่มีความบริสุทธิ์กว่าเทพเจ้า องค์อื่น ๆ
ต่อมามีผู้คิดเลียนแบบที่จะประพฤติอย่างพรหม คือสละทรัพย์สมบัติ ไม่มีภรรยา ออกไปอยู่โดดเดี่ยวปลีกวิเวกอยู่ตามลำพังบำเพ็ญ
ภาวนาทำจิตใจให้บริสุทธิ์ จึงเกิดมีพราหมณ์ ๒ ประเภท คือ
๑. พราหมณ์ที่ยังมีลูกมีเมีย ประกอบอาชีพอยู่เป็นครอบครัวเรียกว่า คฤหบดีพราหมณ์
๒. พราหมณ์ที่ไม่มีลูกไม่มีเมีย สละทรัพย์สมบัติ ออกไปบำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ตามลำพัง ทำจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวง
เรียกว่า สมณพราหมณ์
ดัง นั้น จึงเกิดสถาบันใหม่ในสังคมของอินเดีย คือผู้ที่สละทรัพย์สมบัติ สละบ้านเรือน ไม่มีบุตรภรรยา สละความสุขในเพศคฤหัสถ์
ออกไปอยู่โดดเดี่ยว รักษาศีลบำเพ็ญภาวนา ทำใจให้บริสุทธิ์เรียกว่า เพศพรหมจรรย์ จึงมีผู้เคารพนับถือนำสิ่งของมาถวายถือว่าได้บุญ
และผู้ประพฤติ เช่นนั้นยังหวังที่จะได้บรรลุคุณธรรมพิเศษ มีฤทธิ์เดชมีอำนาจ มีผู้เคารพนับถือเหมือนเทพเจ้าขึ้นมา
พวกพราหมณ์ได้กำหนดปรัชญาในการดำเนินชีวิตของพวกเขาเอง ซึ่งมีระดับขั้นตอนอยู่ ๔ ระดับ หรือเรียกว่าอาศรม ๔ ดังนี้
๑. พรหมจารี เป็นวัยที่ต้องศึกษาเล่าเรียน จะเริ่มทำพิธีเล่าเรียนเรียกว่า "อุปานยัน" แปลว่านำชีวิตเข้าสู่ความรู้ ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ
เบื้องแรกจะต้องให้พราหมณ์ผู้เป็นครูอาจารย์เป็นผู้สวมคล้องด้ายสาย ศักดิ์สิทธิ์เรียกว่ายัชโญปวีต เท่ากับเป็นการประกาศและ
ปฏิญญาณตนว่าเป็นพรหมจารีที่จะต้องเป็นนักเรียนนัก ศึกษาเชื่อฟังครูอาจารย์ ในระหว่างเป็นพรหมจารีนี้ต้องมีความประพฤติเรียบร้อย
ต้องเคารพต่ออาจารย์ทุกโอกาส และต้องเรียนอยู่ในสำนักของอาจารย์อย่างน้อย ๑๒ ปี จึงสำเร็จการศึกษา
๒. คฤหัสถ์ เป็นการแสวงหาความสุขทางโลกตามฆราวาสวิสัย เมื่อกลับมาสู่บ้านแล้ว จะต้องทำพิธีแต่งงานและมีบุตรอย่างน้อย ๑ คน
เพื่อใช้หนี้บรรพบุรุษและเป็นการป้องกันมิให้บิดามารดาตกนรกขุม "ปุตตะ" จะต้องประกอบอาชีพให้มีฐานะมั่นคงในทางฆราวาส ปฏิบัติ
ตามกฎของผู้ครอง เรือน ตลอดจนเอาใจใส่ในการประกอบยัญพิธี
๓. วนปรัสถ์ ผู้ที่สร้างฐานะในทางคฤหัสถ์ได้แล้ว มีบุตรธิดาสืบสกุลแล้วก็ยกทรัพย์สมบัติให้บุตรธิดาแล้วออกไปอยู่ในป่า เพื่อบำเพ็ญ
เพียรทางใจทำคุณงามความดีต้องออกไปหาความสุขสงบจากความวิเวกในป่า เรียกว่า วนปรัสถ์ ยังมีภรรยาเหมือนกับบุคคลทั่วไป
แต่มุ่งบำเพ็ญความดีเพื่อสัมปรายภพให้มากยิ่งขึ้น
๔. สันยาสี พิธีบวชเป็นสันยาสี คุรุจะทำพิธีสวดมนต์บูชาพระเจ้า แล้วสอนให้ผู้บวชว่าตาม เสร็จแล้วคุรุจะอบรมให้ผู้ถือบวชทราบทาง
ปฏิบัติ การถือบวชเป็นสันยาสี เป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตของผู้ที่หวังประโยชน์สูงสุด จะต้องสละโลกและบุตรภรรยา ความวุ่นวายออก
บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าตลอดชีวิต เพื่อจุดหมายปลายทางของชีวิตคือ โมกษะ
ลัทธิอาตมัน
ตามความคิดดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์นั้นถือว่า ความดี ความชั่ว อยู่ที่เทพเจ้า มนุษย์จะดีจะชั่วอยู่เทพเจ้าจะบันดาล ผู้ที่อยากได้
ความดีก็พยายามเซ่นสรวงบูชา เพื่อให้เทพเจ้าพอใจจะได้บันดาลให้เกิดความดีต่าง ๆ
เมื่อพราหมณ์สร้างพระพรหมขึ้นให้เป็นผู้บริสุทธิ์ทางความประพฤติ ประชาชนพอใจในความบริสุทธิ์ของพระพรหม จึงประพฤติเลียนแบบ
พรหมเรียกว่า "พรหมจรรย์" ผลของการประพฤติพรหมจรรย์เกิดขึ้นจริง ประชาชนเคารพนับถือมากผู้ที่เสียสละความสุขทางโลก ประพฤติ
พรหมจรรย์และสั่งสอนให้คนประพฤติตามได้ ได้รับเกียรติสูงส่งทำให้คนมองเห็นว่าความดีความชั่วนั้นอยู่ที่ตัวเอง
ดังนั้น แนวความคิดของมนุษย์เริ่มเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องคือ รู้ว่าความดีความชั่วอยู่ที่การกระทำของตนเอง ลัทธิอาตมัน หรือลัทธิตนเอง
เป็นแนวความคิดใหม่ของพราหมณ์ก็เกิดขึ้น คือให้ความสำคัญแก่ตนเองได้แก่ จิตใจโดยตรง ความดีอยู่ที่ตนเอง ไม่ต้องไปเที่ยวอ้อนวอน
หรือขอจากผู้อื่น กฎแห่งกรรมคือการกระทำของตนมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เริ่มขึ้นจากลัทธิอาตมัน ซึ่งสอนให้มนุษย์รู้จักรับผิด
ชอบชั่วดีด้วยตนเอง
หลักความดีสูงสุดในคัมภีร์พระเวท
การ ปฏิบัติธรรม คือความดีสูงสุด ความดีสูงสุดตามทัศนะของปรัชญาพระเวท คือการนำเอาอาตมันเข้าสู่ปรมาตมันเพื่อหลุดพ้นจาก
สังสารวัฏแห่งชีวิต หรือการเวียนว่ายตายเกิด การดำเนินชีวิต ให้ถึงความดีสูงสุดคือโมกษะนั้น จะต้องปฏิบัติตามหลัก ๔ ระดับ คือ:-
๑. กรรมมรรคหรือกรรมโยคะ คือการกำหนดว่ากรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ชีวะของแต่ละคนย่อมเวียนว่ายตายเกิด มีสุข มีทุกข์
โดยอาศัยแรงแห่งกรรม ให้พิจารณาว่ากรรมใดที่เป็นสาเหตุให้เวียนว่ายตายเกิด จงละกรรมนั้นเสีย และกรรมใดเป็นสาเหตุให้หลุดพ้น
จากการเวียนว่ายตายเกิด จงปฏิบัติกรรมนั้น
๒. ชญาณมรรคหรือชญาณโยคะ คือให้การกำหนดปฏิบัติโดยความรู้แจ้ง ความเห็นชอบ อันเป็นผลมาจากการพิจารณาโดยบริสุทธิ์
ไม่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ชีวะใด ๆ มุ่งแต่การสร้างประโยชน์ และความดีงามให้แก่ส่วนรวม
๓. ภักติมรรคหรือภักติโยคะ คือให้กำหนดปฏิบัติด้วยความจงรักภักดีต่อคำสอนของเทพเจ้า
๔. ราชมรรคหรือราชโยคะ คือมุ่งปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกทางใจ บังคับใจให้อยู่ในอำนาจด้วยการบำเพ็ญโยคะ คือบำเพ็ญเพียร
อย่างอุกฤษฏ์ เพื่อให้จิตพ้นจากกิเลส และมีลำดับขั้นตอนในการบำเพ็ญเพียรทางจิตดังนี้
- โสลกยัม คือการบำเพ็ญเพียรกระทั่งจิตไปสู่โลกทิพย์เสมือนไปอยู่เฉพาะหน้าพระผู้เป็นเจ้าได้แก่ พระอิศวรหรือพระศิวะ
- สมิปยัม คือการเข้าฌานฟอกจิตให้สะอาดจนมองเห็นพระเจ้า
- สรุปยัม คือการฟอกจิตให้แน่วแน่จนตัวกลืนหายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า
- สยุชยัม คือการเข้าถึงพระเจ้าจนตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันเป็นจุดหมายสูงสุดของสันยาสีทั้งหลาย เรียกว่าการหลุดพ้น
จากทุกข์ทั้งปวงคือ โมกษะ อันเป็นจุดหมายปลายทางสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
________________________________________
๑ รศ. ดร. สุนทร ณ รังษี, ปรัชญาอินเดีย: ประวัติและลัทธิ, พ.ศ. ๒๕๓๗, น. ๔๓
๒ พระญาณวโรดม , ศาสนาต่าง ๆ , พ.ศ. ๒๕๒๙, น. ๓๓