ตามหลักทางประวัติศาสตร์ในตำนาน “สามก๊ก” และจดหมายเหตุที่สำคัญในอำเภอยุ่นเฉิง มณฑลซานซี มีบันทึกไว้ว่า ในปีที่ 3 แห่งรัชกาลเอี่ยนสี่ สมัยราชวงศ์ตงฮั่น กวนอูได้ถือกำเนิด ณ. หมู่บ้านฉางผิง อำเภอยุ่นเฉิง มณฑลซานซี ซึ่งก็คือปีพุทธศักราช 703 หรือคริสตศักราช 160 ตามประวัติท่านกวนอู แซ่กวน ชื่อ “หวี่” มีสมญาว่า “ฉางเขิน” มีชื่อรองว่า “หยุ่นฉาง” เป็นชาวตำบลเจียเหลียง อำเภอยุ่นเฉิง เมืองเหอตง มีคุณลักษณะคือ เป็นชายรูปร่างสูงใหญ่สูง 6 เซียะ (ประมาณ 198 ซม.) หนวดยาว 1 เซียะครึ่ง (ประมาณ 49.5 ซม.) ใบหน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก ริมฝีปากแดงดั่งแต้มชาด คิวเหมือนตัวหนอนไหม ตายาวดั่งนกการะเวก ลักษณะท่าทางองอาจทรงอำนาจ ตามตำนานสามก๊กซึ่งอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์จีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความแตกแยกของแผ่นดินจีน โดยตามตำนานบทบาทของกวนอู เป็นผู้มีอุปนิสัยรักความเป็นธรรม เป็นผู้มีคุณธรรม รอบรู้การทหาร และชอบสู้กับคนที่เก่งกว่า โดยไม่รังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า ซื่อสัตย์ และกตัญญูยิ่ง อาวุธคู่กายคือ ง้าวรูปจันทร์เสี้ยว ประดับลายมังกรยาว 11 เซียะ (ประมาณ 3 เมตร 63 ซม.) หนัก 82 ชั่ง (65.6 กิโลกรัม) ง้าวนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ชิงหลง เยี่ยน เย เตา” หรือ “ง้าวมังกรเขียวจันทร์เสี้ยวระรื่น หรือ ง้าวนิลมังกรจันทร์ฉงาย” โดยมีม้าคู่กายชื่อ “ซิกเธา” สำหรับซิกเธา โจโฉได้มอบม้าซิกเธาให้แก่กวนอู เนื่องจากโจโฉต้องการให้กวนอู สวามิภักต่อตน จึงฆ่าลิโป้แล้วยึดเอาม้าของลิโป้มามอบให้แก่กวนอู โดยม้าซิกเธามีลักษณะเด่นคือ เป็นม้าที่มีความสง่างามมาก แข็งแรง และวิ่งเร็ว สามารถเดินทางได้ไกลถึงวันละหมื่นลี้ กวนอูมีความผูกพันต่อม้าซิกเธาเป็นอย่างมาก โดยเมื่อถึงคราวที่กวนอูถูกประหาร ม้าซิกเธาก็ล้มป่วยและตรอมใจตายในเวลาต่อมา
กวนอูได้ถูกขนานนามว่าเป็นเทพเจ้าครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ชิง หลังจากยุคสามก๊กไปแล้วพันกว่าปี โดยผู้ที่แต่งตั้งกวนอูให้เป็น “จงอี้เหยินหย่งเสินต้าตี้” ซึ่งแปลว่า “มหาเทพผู้ซื่อสัตย์ จงรักภักดี มีความเป็นธรรม มนุษยธรรม และกล้าหาญยิ่ง” คือ พระเจ้าเฉียนหลง จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิงนั่นเอง เนื่องจากว่า จักรพรรดิเฉียนหลง ต้องการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องของความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ต่อเจ้านายให้เกิดขึ้นกับอาณาประชาราษฎร์ของตน เป็นเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง และด้วยบทบาทที่เป็นตัวเอกในฝ่ายธรรมมะ จึงทำให้กวนอู เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป และยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์สืบต่อมานั่นเอง สำหรับเทพเจ้ากวนอูของวัดพนัญเชิงวรวิหาร เรียกว่าปางชนะศึก คือหมายถึงเป็นปางที่ชนะศึกจากการรบนั่นเอง
เทพเจ้ากวนอูปางต่างๆ
กวนอูได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ และเทพเจ้าแห่งสงคราม เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคลของการต่อสู้ แข่งขัน ชิงชัย กวนอูจึงมีผู้เคารพนับถือบูชามาก ซึ่งรูปบูชาของเทพเจ้ากวนอูนั้น ได้แบ่งออกเป็นหลายปาง และมีความหมายแตกต่างกันดังนี้
1. กวนอูในท่ายืน (ลี้กวนกง) เทพกวนอูในอริยบบถตรึกตรอง ยืนถือง้าว มือซ้ายลูบหนวด ด้วยท่วงท่าที่ดูสงบเยือกเย็น ท่ายืนสื่อถึงความห้าวหาญเด็ดเดี่ยวของท่านในท่ามกลางการชิงไหวชิงพริบ เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องบริหารกิจการหรือดูแลผู้คนเป็นจำนวนมาก ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ธุรกิจ ห้างร้าน เอาไว้ข่มบริวารให้เกรงกลัวอยู่ในโอวาท หรือที่บ้าน
2. กวนอูในท่าขี่ม้า (ฉีหม่ากวนกง) กวนอูผู้นำชัยบนหลังม้าเซ็กเธาว์ขณะกำลังกระโจนไปข้างหน้า หรือยกขาหน้าขึ้น กวนอูถือง้าวอยู่ในท่าพร้อมรบ แสดงออกถึงการต่อสู้ แข่งขันและเอาชนะคู่แข่งขันในทุก ๆ ด้าน
3.กวนอูในท่านั่ง (จว้อกวนกง)