ครูหมอโนรา


                     ครูหมอโนรา  คือบรรพบุรุษของโนรา  บางทีจะเรียกว่า “ครูหมอตายาย”  คือโนราจะนับถือครูหมอหรือครูโนรา  และนับถือบรรพบุรุษของตน  ซึ่งเรียกว่า “ตายาย”  คนทางภาคใต้ส่วนใหญ่มีตายายเป็นโนรา  เพราะสมัยก่อนนิยมโนรากันมาก  คนดี คนเก่ง ต้องสามารถรำโนราได้ 

             ผู้ที่รำโนราถือว่าโนรามีครูแรง  ใครทำผิดจารีต  หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่เหมาะ  ไม่ควร  ก็จะถูกครูหมอกระทำให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา เวลาได้รับความทุกข์ยากต่าง ๆ ก็จะบนครูหมอ  ให้พ้นจากความทุกข์ยาก หรือลูกหลานตายายโนราบางคนที่เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำการรักษาด้วยหมอหลวงแล้วแต่ก็ยังไม่หายจากอาการป่วย ก็จะเชื้อเชิญครูหมอโนราเข้าประทับทรงเพื่อถามถึงสาเหตุของอาการป่วยและวิธีการรักษา และเมื่อพ้นจากความทุกข์ยากแล้วก็จะแก้บนด้วยการเล่นโนรา   โรงครู  หรือแก้บนด้วยการถวายหัวหมู  เป็นต้น ในการแก้บนก็จะเชิญครูหมอโนราเข้าประทับทรง  เพื่อรับของแก้บนอีกครั้งหนึ่ง  ครูหมอโนราจึงถือเป็นเทพที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีอยู่หลายองค์  เช่น แม่ศรีคงคา  หรือแม่ศรีมาลา  พ่อเทพสิงหร  ขุนพราน  ยาพราน  พรานบุญ (หน้าทอง)  พรานทิพ       พรานเทพ  พ่อขุนศรัทธา  หลวงสุทธิ์  นายแสน  หลวงคงวังเวน  พระยาถมน้ำ  พระยาลุยไฟ       พระยาสายฟ้าฟาด  พระยามือเหล็ก  พระยามือไฟ   ตาหลวงคง เป็นต้น  

  ๑. บุคคลที่เกี่ยวข้อง

                         ๑.๑ คนทรง หรือร่างทรง  (ลูกหลานตายายโนรา ที่บรรพบุรุษยอมรับให้เป็นคนทรง  ทั้งนี้มีอยู่ ๒ กรณี คือ 

๑.๑.๑ กรณีที่ลูกหลานต้องการจะเป็นคนทรงเพื่อสืบทอดเชื้อสายโนราเพื่อไม่ให้สูญหาย กรณีนี้ลูกหลานจะแต่งตัวเป็นคนทรงแล้วมานั่งเรียงหน้ากันในการประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู  เพื่อที่จะให้ครูหมอ หรือตาหลวงประทับทรง หากตาหลวงพอใจหรือต้องการลูกหลานคนใดเป็นคนทรงก็จะประทับทรงลูกหลานคนนั้น  และลูกหลานทั้งหมดก็จะยอมรับลูกหลานคนนั้นเป็นคนทรงประจำตระกูลหรือเชื้อสายโนราสายนั้น

๑.๑.๒ กรณีที่ลูกหลานไม่ต้องการจะเป็นคนทรง  แต่ครูหมอ หรือ       ตาหลวงต้องการจะให้เป็นผู้สืบทอด  กรณีนี้  จะมีลูกหลานบางคนที่ไม่ประสงค์จะเป็นคนทรง หรือร่างทรง  จึงไม่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมในโนราโรงครูเพื่อที่จะให้ครูหมอเลือก  แต่ด้วยพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของครูหมอโนรา (ตามที่เชื่อกันว่าโนรามีครูแรง)  เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมโนราครู ลูกหลานคนนั้นก็จะมีความกระวนกระวายใจ และมีแรงดลใจให้เดินทางไปยังสถานที่ที่ประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู  เมื่อไปถึงยังสถานที่นั้น ๆ ก็จะแต่งตัวเป็นคนทรงแล้วเข้าไปนั่งรวมกับลูกหลานคนอื่น ๆ ครูหมอหรือตาหลวง ก็จะประทับทรงลูกหลานคนนั้น เพื่อเป็นผู้สืบทอดเชื้อสายโนราต่อไป

               ๑.๒ ผู้สื่อสาร  คือผู้ที่มีหน้าที่ซักถาม สื่อกับครูหมอ  ขณะที่ประทับทรง 

             ๑.๓ เจ้าภาพ  หรือลูกหลานที่ต้องการจะเชื้อเชิญครูหมอมา เพื่อถามถึงสาเหตุการเจ็บป่วย หรือความเดือดร้อน และวิธีการรักษา

              ๑.๔ ผู้ร่วมพิธี  คือลูกหลานตายายโนรา  หรือบุคคลอื่น ๆ ที่เข้าร่วมทำพิธี

 

๒.  สถานที่

         สถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมประทับทรงของครูหมอโนรา  มี ๓ ลักษณะ ดังนี้

               ๒.๑ ในโรงโนรา  (กรณีที่แก้บนหรือทำพิธีในพิธีโนราโรงครู หรือ “โนราลงครู”)

              ๒.๒ บ้านของลูกหลานตายายโนรา  ที่มีการตั้งแคร่ และตั้งเพดาน   เพื่อแสดงถึงการเป็นลูกหลานตายายโนราอย่างเต็มตัว เพื่อบูชา /พร้อมรับครูหมอ หรือตาหลวงมาประทับเพื่อดูแลทุกข์สุขของลูกหลาน

          ๒.๒ บ้านของคนทรง โดยปกติจะมีการตั้งแคร่ และตั้งเพดาน  เพื่อบูชารับครูหมอ หรือตาหลวงอยู่แล้ว

๓. เครื่องบูชาครูหมอโนรา

                เครื่องบูชาครูหมอโนรา (กรณีที่ทรงที่บ้าน)  ประกอบด้วย

 ๓.๑ ดอกไม้  (มักจะนิยมดอกดาวเรือง) จำนวน  ๑๙  ดอก  จัดเรียงบนแคร่หน้าครูหมอ  ๙  ดอก  วางในพานขันหมาก  ๙  ดอก  ใส่บนเพดาน  ๑   ดอก

 ๓.๒ เงิน   ๒๒  บาท  จัดเรียงบนแคร่หน้าครูหมอ  ๙ บาท  (ใช้เหรียญบาท)  ใส่บนเพดาน  ๑ บาท  ใส่พานขันหมาก  ๑๒ บาท  (ส่วนที่จะให้ค่าตอบแทนคนทรงนั้น  แล้วแต่เจ้าภาพจะเห็นเหมาะสม)

๓.๓ ธูป  ๙  ดอก   จุดบูชาในกระถางธูป

๓.๔ เทียน   จำนวนขึ้นอยู่กับอาหารที่นำมาบูชา  แต่จะใช้ปักเรียง บนแคร่หน้าครูหมอ  ๙  เล่ม  ใส่ในขันหมาก ๑ เล่ม และปักลงในอาหารที่นำมาบูชา  ทุกอย่าง ๆ ละ  ๑ เล่ม

๓.๕ หมากพลู  ๑๐  คำ  ใส่ในพานขันหมาก  ๙  คำ   ใส่พานสำหรับให้ตาหลวงกินขณะประทับทรงแล้ว  ๑  คำ

๓.๖ อาหาร  (กรณีที่แก้บน)   ได้แก่  หัวหมู  ข้าวแกงใส่ปิ่นโต ๑ เถา ขนมโค  เหนียวเหลือง – เหนียวขาว   ผลไม้  และอาหารอื่น ๆ ตามที่เห็นเหมาะสม

๓.๗  น้ำ   สำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ ๑ขัน    สำหรับให้ครูหมอหรือตาหลวงบ้วนปาก  ๑  แก้ว

๓.๘ เหล้าขาวเล็กน้อย  ใส่แก้ว  เพื่อให้ครูหมอดื่มพอเป็นพิธี

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม

๑.   ลูกหลานที่เป็นเจ้าภาพ  จัดสถานที่  เตรียมสิ่งของบูชาวางจัดลงบนผ้าขาว

๒.     เมื่อทุกอย่างพร้อม  ก็จะเชิญคนทรงขึ้นนั่งบนแคร่ 

๓.   เจ้าภาพ   จุดเทียน ๙ เล่ม อธิษฐาน หรือกาดครูหมอถึงสาเหตุที่มาใน

วันนี้  ว่าจะให้ครูหมอช่วยเรื่องใด  หรือมาเพื่อแก้บนก็ขอให้ครูหมอมารับของแก้บนด้วย  เพื่อจะได้ขาดเหมฺรฺย แล้วยื่นขันหมากให้คนทรง  เมื่อคนทรงรับขันหมากแล้วก็จะกาดครูเพื่อเชื้อเชิญครูหมอหรือตาหลวงเข้าประทับทรง

                  ๔. สักครูหนึ่งครูหมอหรือตาหลวงก็ประทับทรง  จะสังเกตได้จากอาการสั่นของคนทรง 

                  ๕. ผู้สื่อสารก็จะถวาย  หมาก พลู ๑ คำ  น้ำ ๑ แก้ว  และเหล้าขาว เล็กน้อย ใส่แก้ว ๑ แก้ว

                  ๖. ผู้สื่อสารก็จะถามว่าเป็นครูหมอหรือตาหลวงองค์ใดที่มาประทับทรง   ครูหมอก็จะบอกชื่อว่าเป็นองค์ใด แล้วจะถามต่อว่าลูกหลานมีธุระอันใดกันที่ได้เชื้อเชิญมา  ลูกลานก็จะบอกจุดประสงค์  (กรณีที่แก้บน  ครูหมอก็จะสอนให้กล่าวตาม) เป็นอันเสร็จพิธีแก้บน  และจะถามต่อว่าลูกหลานจะถามอะไรอีกหรือไม่  ถ้าลูกหลานถามก็จะตอบทุกคำถาม  จนกว่าลูกหลานจะหมดคำถาม  ก็จะบอกว่าถ้าไม่มีอะไรกูจะไปแล้ว  ก็บัด (สลัด)  เป็นอันเสร็จพิธี

๗.  หลังจากนั้นคนทรงก็จะกลับเป็นคนเดิม  แล้วจะถามลูกหลานที่มาร่วมพิธีว่า 

เมื่อสักครูที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไรบ้าง  เป็นองค์ใด  หยาบ (หมายถึงเกรี้ยวกราด หรือดุ) หรือไม่   ลูกหลานก็จะนั่งคุยกันถามข่าวคราวกัน  แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน

                   ๘. เจ้าภาพมอบเงินค่าตอบแทนให้คนทรง

  ความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา หรือตายายโนรา เป็นความเชื่อของชาวไทยในภาคใต้ที่มีบรรพบุรุษเป็นโนรา  เป็นเรื่องที่ยากแก่การพิสูจน์ เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่หากมองในแง่มุมของประโยชน์และคุณค่าที่มีต่อสังคม จะเป็นความเชื่อที่แฝงไว้ด้วยการอบรมสั่งสอนบุตรหลาน  คนรุ่นหลังให้มีความกตัญญูต่อบุพการี เป็นส่งเสริมให้คนมีคุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ   ส่งเสริมให้คนทำความดี และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ และความสามัคคีในหมู่เครือญาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

ขอขอบคุณที่มาของเนื้อหา // ศศิประภา  จันทรโชตะ
ศึกษาและค้นคว้าข้อมูลโดย //  โนราบรรดาศักดิ์   พิทักษ์ศิลป์
เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม  ๒๕๕๔

 htp://krunora.blogspot.com/

  " ครู " ตามความหมายของโนรามีสองความหมาย ประการแรกหมายถึง ผู้สอนวิชาการร้องรำโนราแก่ตนเอง หรือแก่บรรพบุรุษของตน ความหมายที่สอง หมายถึงบรรพบุรุษหรือผู้ให้กำเนิดโนรา เช่นขุนศรีศรัทธา นางนวลทองสำลี และแม่ศรีมาลา บรรพบุรุษตามความหมายนี้ยังเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า " ตายายโนรา " 
 
    สำหรับวัตถุประสงค์ในการแสดงโนราโรงครูมี ๓ประการ คือ 
 ๑. เพื่อไหว้ครู หรือ ไหว้ตายายโนรา ด้วยเหตุที่ศิลปินต้องมีครู ดังนั้นผู้แสดงโนราหรือเทือกเถาเหล่ากอของโนราจึงต้องยึดถือเป็นธรรมเนียมจะต้องมีการไหว้ครูเหมือนศิลปินอื่น ๆ และแสดงกตเวทิตาคุณต่อครูของตน การไหว้ครูและแสดงกตเวทิตาคุณของโนราทำโดยการรำโรงครูนี้เอง 
 ๒. เพื่อแก้บน นอกเหนือจากการไหว้ครูข้างต้นแล้ว โนราโดยทั่วไปจะถือว่าครูโนราของตนที่ล่วงลับไปแล้วเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นเมื่อมีเหตุเพทภัยเกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว หรือญาตมิตร ก็มักจะบนบานศาลกล่าวต่อบรรชนเหล่านั้นให้มาช่วยขจัดปัดเป่าเหตุเพทภัยนั้น หรือบางครั้งบนบานศาลกล่าวขอให้ตนประสบโชคดี ซึ่งเมื่อสมประสงค์แล้วก็ต้องทำการแก้บนให้ลุล่วงไป ทางออกของโนราในกรณีนี้ก็คือการรำโนราโรงครู 
๓.เพื่อครอบเทริด ธรรมเนียมนิยมอย่างหนึ่งของศิลปินไทย คือการครอบมือแก่ศิลปินใหม่ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมอันเป็นมิ่งมงคลยิ่งของชีวิตศิลปิน ซึ่งโนราก็หนีไม่พ้นธรรมเนียมนิยมนี้ แต่เรียกว่า " พิธีครอบเทริด " หรือ " พิธีผูกผ้าใหญ่ " หรือ " พิธีแต่งพอก " หากพิธีนี้จัดขึ้นเมื่อใดก็ตาม จำเป็นต้องมีการรำโนราโรงครูทุกครั้ง

ชนิดของโนราโรงครู 

    โนราโรงครูมี ๒ ชนิด คือ 
๑.โรงครูใหญ่ หมายถึงการรำโนราโรงครูอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะต้องกระทำต่อเนื่องกัน ๓ วัน ๓ คืนจึงจะจบพิธี โดยจะเริ่มในวันพุธ ไปสิ้นสุดในวันศุกร์ และจะต้องกระทำเป็นประจำทุกปี หรือทุกสามปี ทุกห้าปี ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการกันนานและใช้ทุนทรัพย์สูง จึงเป็นการยากที่จะทำได้ 
๒.โรงครูเล็ก หมายถึงการรำโรงครูอย่างย่นย่อ คือใช้เวลาเพียง ๑ วันกับ ๑ คืน โดยปกติจะเริ่มในตอนเย็นวันพุธแล้วไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี ซึ่งการรำโรงครูไม่ว่าจะเป็นโรงครูใหญ่หรือโรงครูเล็กก็มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวการณ์และความพร้อม การรำโรงครูเล็ก เรียกอีกอย่าง คือ " การค้ำครู " 

     อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นการรำโรงครูใหญ่หรือรำโรงครูเล็กนับ

เป็นธรรมเนียมนิยมอันดีของศิลปินโนรา เพราะนอกจากเป็นการรำลึกถึงบุญคุณครูแล้วยังเป็นการชุมนุมบรรดาศิษย์ของโนรารุ่นต่าง ๆได้อีกประการหนึ่งด้วย อันเป็นหนทางให้เกิดสัมพันธภาพอันดีต่อกันระหว่างครูกับศิษย์ ศิษย์กับศิษย์ โนรากับโนราให้คงอยู่กันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่ง ณ ที่นี้ ขอชมเชยชาวตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ที่ยังคงจัดพิธีกรรมรำโนราโรงครูอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

ภาพโดยโต้ราชวัง

 

  สังคมไทยนั้นให้ความสำคัญกับครูมาตั้งแต่โบราณ เพราะเชื่อกันว่าครูคือผู้ที่ช่วยประสิทธิ์ประสาทความรู้ สร้างคนให้เป็นคน มีบุญคุณเป็นอันดับรองต่อจากบิดามารดา ศาสตร์ทุกศาสตร์จึงมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการไหว้ครู เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการกตัญญุรู้คุณ ไม่ว่าจะเป็นสังคมโรงเรียนที่มีการไหว้ครู ทุกๆที่  โขนละครก็เป็นนาฏศาสตร์ที่มีพิธีการไหว้ครูที่เกี่ยวเนื่องกับมหาเทพ และมีสถาบันคนชั้นฟ้าที่เราหวงแหนมาร่วมพิธี เพราะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการไหว้ครูในพิธีนี้
สังคมชาวใต้ก็เช่นกันครับ จะมีการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ เรียกว่า ครูหมอ  ในพื้นที่ 14 จังหวัดจะมีการันบถือครูหมอ มีให้เห็นอยู่โดยทั่วไป ครูหมอที่ดูจะโดดเด่นที่สุดคือครูหมอมโนราห์ เพราะนี่เป็นศาสตร์แห่งแผ่นดินของชาวใต้ อีกทั้งคนที่มีเชื้อสายมโนราห์จะรู้กันดีว่า ครูหมอมโนราห์นั้นมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหนือคำว่าวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย

                 มโนราห์เป็นศาสตร์ แห่งการร่ายรำ การร้องและไสยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมาตั้งแต่สมัยโบราณ เชื่อกันว่ามโนราห์นั้นเกิดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยา โดยเกิดที่แรก แถบลุ่มทะเลสาปสงสขลา โดยได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากศาสนาพราหมณ์ ถูกกาลเวลาผสมผสานเอาความเชื่อทางพุทธและความเชื่อดั้งเดิมของชาวใต้มารวมกัน จนตกผลึกทางวัฒนธรรมกลายเป็นความงามที่เชิดชูความเป็นด้ามขวาน
 
 
(นี่คือหน้าพรานอันเป็นตัวแทนครูหมอมโนราห์ที่ยังไม่ได้รับการทาสีและตกแต่ง)
 
               ในสมัยกรุงธนบุรี หลังจากกรุงศรีแตก นั้น พระเจ้าตากสินทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของศิลปะการแสดงของบ้านเมือง จึงได้ส่งชาววังมาสืบวัฒนธรรมที่ นครศรีธรรมราช ซึ่งสมัยนั้นเป็นประเทศราชที่ไม่ได้รับความเสียหายจากสงคราม ตอนนั้น ครูโขนที่มาจากรกรุงธนบุรี กับครูมโนราห์ทางใต้ได้ร่วมสอบ ความตรงกันทางด้านวัฒนธรรม จนเสร็จสิ้น ในตำราครูโขนละคร จึงได้น้อมนำเอาครูมโนราห์มาเป้นตัวแทนครูชาตรี (ละครนอก) ในการครอบครู เศียรที่ได้รับเลือกคือ เศียรพ่อแก่ เทริดมโนราห์ (มงกุฎมโนราห์) และเศียรพระพิราพ
จากจุดนี้ ทำให้เห็นว่าครูหมอมโนราห์นั้นมีศักดิ์ที่ใหญ่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในลำดับรองลงมาจากมหาเทพ อย่างพระอิศาวร พระพรหม เป็นต้น หากงานใดไม่มีการนำเทริดมโนราห์มาร่วมพิธี จะถือว่างานครอบครูนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะขาดตัวแทนของครูละครนอก
                ทำไมวันนี้สังคมชาวใต้ยังคงมีครูหมอ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เคยเลือนหายไปไหน เพราะชาวใต้รู้ดีว่า หากเพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่นับถือ แล้วแรงครู จะทำให้บังเกิดอาถรรพ์ และความเป็นไป ต่างๆ เช่น อยู่ๆก็สามารถทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่ศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือแม้แต่ สามารถทำให้เกิดอาการวิกลจริต แก่สมาชิกครอบครัวได้ แต่เมื่อ ทำพิธีขอขมา และหันมาใส่ใจนับถือ เพทภัยเหล่านั้นก็จะหายไป เรื่องราวของความศักดิ์สิทธิ์นี้หากจะเล่ากันคงไม่วันจบสิ้น เพราะครุหมอนั้นสามารถบันดาลให้เกิดเพทภัยได้ 108 ประการ พื้นที่ที่มีการนับถือครูหมอมโนราห์อย่างเข้มข้นก็ไดแก่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา
 
 
                  ครูหมอนั้นก็คือ บรรพชนที่เคยมีชีวิตในอดีต แต่เมื่อละสังขารไปแล้ว ยังคงปกปักรักษาลูกหลาน ครูหมอประเภทนี้จะเรียกว่า ตา-ยาย ครูหมอบางประเภทนั้นเป็นครูที่เคยสอนศิลปะใดๆแก่ศิษย์ และศิษย์ก็น้อมมานับถือเมื่อท่านละสสังขารไป ครูหมอพวกนี้ได้แก่ ครูหมอมโนราห์ ครูหมอหนังตลุง ครูหมอช่างเหล็ก ครูหมอปืน เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีครูหมอที่เกิดจากเรื่องเล่าในตำนานการเกิดมโนราห์ เหล่านี้จะเรียกว่าราชครูโนรา ได้แก่ พ่อขุนศรัทธา แม่ศรีมาลา แม่ศรีคงคา พ่อเทพสิงหร พระยาสายฟ้าฟาด พระยาโถมน้ำ พระยาลุยไฟ พรานบุญ เป็นต้น ราชครูนั้นคือคนในตำนานที่มียศถาบรรดาศักดิ์นั้นเอง
 
(นี่คือพิธีโนราโรงครู เป็นการไหว้ครูมโนราห์ ที่เข้มขลังด้วยความศักดิ์สิทธิ์)

                  ครูหมอนั้นเป็นเหมือนศูนย์รวมความศรัทธาในเครือญาติของชาวใต้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม คนใต้จะเป็นคนที่มักจะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม อย่างเช่นสังคมชาวใต้หน้าราม หรือแม้แต่ในชุมชนทางภาคใต้เอง ทุกๆ สาร์ทเดือนสิบคนใต้ไม่ว่าอยู่ที่ใดก็จะต้องกลับมาบ้านเพื่อเข้าร่วมพิธีเซ่นไหว้ครูหมอ และร่วมทำบุญอุทิศบุญกุศลให้ ครูหมอ ปู่ย่าตายาย ผู้ล่วงลับ  ครูหมอจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอานุภาพในการรวมกลุ่มคนของชาวใต้ให้เข้มแข็งและมั่นคง
 
 
 
บทเชิญครูมาลงในพิธีกรรมโนราโรงครู


บทเกริ่น

   ตาเอยตาหลวงลูกบวงสรวงราชครูถ้วนหน้า 
 ครูกลอนของข้าแม่ศรีมาลาเป็นครูต้น 
 ลูกจะข้ามก็ไม่รอดครั้นลูกจะลอดก็ไม่พ้น 
 แม่ศรีมาลาเป็นครูต้นมารดาพ่อขุนศรัทธา 
 แย้มพระโอษฐ์โปรดเกล้ามาเป็นคนเฒ่าแต่ก่อน 
 มารดาศรัทธาท่าแคมีแต่พ่อเทพสิงหร 
 ถ้าพ่อสมัครรักลูกจริงมาช่วยอวยสิงอวยพร 
 ไหว้พ่อเทพสิงหรสอนมนต์พ่อขุนศรัทธา 
 ไหว้ศรัทธารามโฉมงามเบิกหน้าบายตา 
 ราชครูของข้าพ่อลับตาไปเสียแล้ว 
 พ่อลับตาไปท้ายไทไปสู่วิมานแก้ว 
 ลับตาไปเสียแล้วเหมือนแก้วมาหล่นไปจากอก 
 โอ้อนิจจาลูกนึกขึ้นมาน้ำตาตก 
 มาหล่นไปจากอกเหมือนลูกนกมาถูกเฉียว 
 โอ้ว่าอนิจจามาทิ้งลูกยาไว้คนเดียว
 บทเชิญตาหมอเฒ่า 
 ตาหมอเฒ่าเป็นต้นเชียกอย่าให้ลูกร้องเรียกหา 
 ตาหมอเฒ่าเป็นเทพเป็นผู้วิเศษในเมืองพระพารา 
 ตาหมอเฒ่าต้นหนให้ขับต้อนพลกันเข้ามา 
 แต่ไหรแต่ก่อนรู้แล้วไม่หอนได้อยู่ช้า

บทเชิญพ่อเทพสิงหร 

    สิบนิ้วยอกรไหว้เทพสิงหรให้ร่อนมา 
 เทพสิงหรของลูกแก้วแล้วแล้วไม่หอนได้อยู่ช้า

บทเชิญตาหมอเทพ

    ตาหมอเฒ่ามาแล้วตาหมอเทพของลูกแก้วเชิญเข้ามา 
 ตามหมอเฒ่าเดินหน้าตาหมอเทพลีลาเดินตามหลัง 
 ตาหมอเทพของลูกแก้วแล้วแล้วไม่หอนได้อยู้ช้า 
 มาจับตาซ้ายโยกย้ายไปจับที่ตาขวา 
 มาจับที่ตาขวาให้ซ่านมาถึงหัวใจ 
 มาจับแต่นิ้วกลางนิ้วนางพ่อเว้นไว้ให้ใคร 
 รื่นรื่นไรไรไคลเข้าในร่างพระกายา

บทเชิญตาหลวงอินทร์

    พ่อเทพสิงหรลงมาแล้วหลวงอินทร์ใจแก้วองค์ที่สี่ 
 แต่ก่อนเคยได้ยินขึ้นชื่อหลวงอินทร์เขาใจดี 
 เชิญลงมาองค์ที่สี่ใจดีดำเหนินเชิญพ่อมา 
 ตาหมอหลวงอินทร์ของลูกแก้วเสียงแจ้วข้ากาศอาราธนาหา 
 ถ้าหากผิดพลั้งอย่าถือเชิญหลวงอินทร์แลมือมโนรา 
 ศิโรราบกราบไหว้ครูหมอตายายข้างซ้ายขวา 
 มาเถิดมาต้าดำเหนินเชิญมาให้ไวไว 
 ช้านักไม่ได้ธูปเทียนดอกไม้ต้องจอไฟ

บทเชิญตาหลวงทรง 

    ทั้งหญิงทั้งชายพี่น้องทั้งหลายเขาประสงค์ 
 ความรักความห่วงความเป็นบ่วงตาหลวงทรง 
 ถึงเวลาแล้วพ่อจะลงลูกขอเชิญมาเถิดพ่อมา 
 มาเถิดมาต้าเพราะพระเวลามันไม่คอย 
 หลวงทรงพ่อจงเลื่อนลอยจะให้ลูกหลานคอยไปถึงไหน 
 ริบริบไรไรเข้าไปในร่างพระกายา 
 มาเร็วเร็วเถิดพ่อแก้วลูกจะแผ้วแต่โรงไว้คอยท่า

บทเชิญโนรามี 

    มือข้าทั้งสิบนิ้วสอดขึ้นหวางคิ้วเหนือเกล้าเกศี 
 ยกขึ้นวันทาลูกจะร้องเรียกหาโนรามี 
 แต่ก่อนเขาใจดีพอมาปีนี้ลูกหลานไม่เคยเห็น 
 แต่ก่อนแต่ไหรโนรามียอดใยน้ำใจเย็น 
 ลูกหลานไม่หอนเห็นมาเล่นมารำเสียเถิดหนา 
 มาเถิดโนรามีฤกษ์งามยามดีเชิญพ่อมา 
 มาเถิดมาต้าหว่างตัวลูกยาร้องเรียก 
 ดอกจิกดอกจักยังเล่าดอกรักดอกลำเจียก 
 ตัวพ่อเหมือนควายส่วนตัวลูกชายเปรียบเหมือนเชียก 
 ถ้าพ่อไปไหนลูกน้อยก็ตามเรียก 
 ไม่ให้พ่อไปไกลจูงเข้าในโรงมโนรา

บทเชิญตาหลวงสิทธิ์

    กล่าวถูกกล่าวผิดจะขออ้างหลวงสิทธิ์ติดต่อมา 
 หลวงสิทธิ์ของลูกแก้วแล้วแล้วไม่หอนได้อยู่ช้า 
 หลวงสิทธิ์เจ้าเอยทรามเชยจับทรงร่อนลงมา 
 มาเถิดมาต้าดำเหนินเดินช้าอยู่ว่าไหร 
 เข้ามาต้าเหวอยอดพ่อบุญรอดเข้ามาช้าอยู่ไย 
 รีบรีบอย่าทำไรเข้ามาในโรงมโนรา 
 หลวงสิทธิ์ของลูกแก้วแล้วแล้วไม่หอนจะอยู่ช้า 
 ถ้าพ่อมาก่อนให้นั่งหน้ามาช้าให้นั่งอยู่อยู่ข้างหลัง 
 เราแห่เจ้าเข้าตัวเหมือนแห่เจ้าอยู่หัวให้เข้าวัง 
 ธงแดงแห่หน้าธงราชวาแห่ตามหลัง 
 เชิญเข้าตามเส้นด้ายเคลื่อนย้ายเข้ามาตามเส้นใย


ขอขอบพระคุณ อ.ชัยยันต์ ศุภกิจ อดีตอาจารย์โรงเรียนบ้านท่ามิหรำ อ.เมือง จ.พัทลุง ผู้เอื้อเฟื้อข้อมูลครับ
http://www.moradokthai.com/manora.htm

บทความแนะนำ

รวมบทความ

แปลภาษา
ติดตามข่าวสาร
ติดตามข่าวสารที่ทวิสเตอร์  Page Ranking Tool