ไสยศาสตร์
ศาสตร์ทั้งหลายบนโลกนี้แบ่งแยกได้เป็น 2 ศาสตร์ใหญ่ๆคือ
1 พุทธศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์แห่งการตื่น เปรียบได้กับความรู้หรือความเข้าใจและ การกระทำต่างๆที่สามารถแสดงและพิสูจน์ให้ผู้อื่นรู้จริงเห็นแจ้งชัดสามารถแสดงให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจได้ทุกขั้นตอนอย่างเป็นหลักการ เช่น วิทยาศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น
2 ไสยศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์แห่งการหลับ เปรียบได้กับความรู้หรือความเข้าใจและ การกระทำต่างๆที่ไม่สามารถพิสูจน์ให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจได้อย่างเป็นหลักการทุกขั้นตอน แต่สามารถให้ผลลัพธ์ ให้คุณ แสดงผล และแสดงคุณของไสยศาสตร์ได้ตามความต้องการของผู้กระทำได้ และแม้ว่าไสยศาสตร์จะหมายถึงการ หลับใหล ก็ตามแต่ก็ หมายความว่าเป็นเพียงการหลับของร่างกายสังขารเท่านั้น โดยนัยยะ จริงๆก็คือเป็นการหลับเพียงร่างกายเท่านั้นแต่ “จิต” เป็นผู้ กระทำนั่นเอง ดังนั้น ไสยศาสตร์ จึงสรุปได้ว่าคือการกระทำให้สำเร็จได้ด้วยจิตโดยไม่สามารถพิสูจน์หรือแสดงขั้นตอนการกระทำหรือชี้แจงหลักการของความเป็นไปของการกระทำได้นั่นเอง(ยกตัวอย่างเช่น การฝังรูปฝังรอย ที่ใช้วิธีนำเอาดินมาปั้นเป็นรูปคนสองคนแล้วนำมามัดเข้าด้วยกันเพื่อให้รักกันนั้นหากมองในทางไสยศาสตร์ก็คือวิชชาเสน่ห์ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้ได้ผลกันมานานนับร้อยๆปีแต่หากมองในแง่พุทธศาสตร์แล้วกลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่าการที่นำดินสองกองมาปั้นเป็นรูปคนแล้วนำมาผูกกันจะเกี่ยวข้องอะไรกับการที่จะให้คนสองคนนั้นมารักกันได้ เป็นต้น)
ไสยศาสตร์ยังแบ่งออกเป็นอีก 2 สาย คือ
1 ไสยวิชชา หมายถึงวิชาหรือพิธี,วิธี ที่ได้รับการสั่งสอน อบรมสั่งสอนหรือมอบให้(บางคนเรียกว่าครอบให้)ต่อๆกันมาแบ่งออกเป็น
1.1 วิชชาไสยขาว โดยทั่วไปหลักการของวิชชาไสยขาวจะต้องมีหลักการหรือหัวใจสำคัญคือต้องใช้ไปในทางช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น
1.2 วิชชาไสยดำ หลักการโดยทั่วไปของวิชชาไสยดำจะแตกต่างจากวิชชาไสยขาวโดยสิ้นเชิงคือมุ่งเน้นสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นหลักสำคัญโดยไม่ต้องมีแรงจูงใจหรือหลักการใดๆทั้งสิ้น (ยิ่งมีผู้เดือดร้อนกับการกระทำของผู้เรียนวิชชาไสยดำมากเท่าไหร่พลังของผู้ที่ศึกษาของวิชชานี้ก็จะยิ่งแกร่งและแก่กล้าขึ้นมากเท่านั้น)
2 ไสยอวิชชา หมายถึงวิชาหรือพิธี,วิธี ที่คิดค้นขึ้นเองโดย ผู้ทำพิธี ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของสิ่งที่ มีพลัง มีฤทธิ์ มีอาถรรพ์ นำมาเป็นปัจจัยหลัก
(ในบางกรณีมักมีการ กล่าวอ้างว่าไสยศาสตร์ คือเดียรฉานวิชานั้น เป็นความเข้าใจที่ผิดๆเพราะคำว่าเดียรฉานแปลว่าสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังขนานกับพื้นซึ่งตรงข้ามกับคำว่านิรฉานซึ่งหมายถึงสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังตั้งฉากกับพื้น คำว่าเดียรฉานวิชาจึงอาจหมายถึงการด่าหรือต่อว่า ประณาม หยามเหยียดซะมากกว่า)
ครูบา อาจารย์ ไสยศาสตร์ คือผู้สั่งสอนและถ่ายทอดวิชชาไสยศาสตร์ให้สืบต่อตกทอดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า หรือ อาจหมายถึงสิ่งอันทรงอานุภาพ ทรงศักดิ์ ทรงฤทธิ์ มีอำนาจในการประทานอำนาจเพื่อให้ผู้ที่ประกอบพิธีสามารถทำพิธีได้สำเร็จก็ได้
ครูบา อาจารย์ไสยศาสตร์ที่สำคัญๆมีหลายพระองค์ดังจะยกตัวอย่างพอสังเขปดังนี้คือ
1 องค์พระศุกกราอาจารย์(พระ-ศุก-กรา-อา-จา-ระ-ยะ) หรือฤาษีศุกร์ และอีกนามหนึ่งคือครูอสูร ผู้ซึ่งเป็นคุรุ หรือครูของเหล่าอสูร ยักษ์ ทั้งหลาย เป็นบุตรแห่ง(มหาฤาษีภฤคุผู้ทรงเป็นหนึ่งในเจ็ดมหาสัปตะฤาษีผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง7) ฤาษีศุกร์ เชี่ยวชาญในมนตรา วิชา ทุกแขนง ที่สันทัดเป็นพิเศษคือ การกำหนดปลุกฟื้นคืนชีพและการทำลายชีวิตศัตรูแบบช้าๆด้วยความทรมานด้วยสารพักศาตราและโรคา การกดดวงชะตาให้ตกต่ำไม่มีผู้ค้ำจุน หรือการทำลายฐานดวงให้ชีวิตพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก ในทางกลับกัน ก็เชี่ยวชาญในการแก้ไขเช่นเดียวกันด้วย พระฤาษีศุกร์ มีลูกศิษย์คนสำคัญๆยกตัวอย่างเช่น โสมเทพ(พระจันทร์) ราหู (พระราหู)เป็นต้น ฤาษีศุกร์ถือเป็นฤาษีที่อยู่ในศักดิ์ เทพฤาษี อันเป็นชั้นที่ 2 ของระดับชั้นของฤาษีเบื้องบน(ฤาษีแบ่งเป็นฤาษีเบื้องบนคือชั้นฟ้าและฤาษีเบื้องล่างคือชั้นดิน) ในชั้นที่แรกสุดของฤาษีชั้นฟ้าคือราชฤาษี ชั้นที่2คือเทพฤาษี ชั้นที่3คือพรหมฤาษี และชั้นสูงสุดคือมหาฤาษี
2 องค์พระฤาษีอังคีรส(พระ-อัง-คี-รส) หรือฤาษีพฤหัส และอีกนามหนึ่งคือคุรุเทพ เป็นคุรุหรืออาจารย์ของเหล่าเทพทั้งหลายยกตัวอย่างเช่น พระสุริยเทพ(พระอาทิตย์) องค์อมรินทราเทวาธิราชเจ้า(พระอินทร์)เป็นต้น เป็นฤาษีชั้นฟ้าในระดับเทพฤาษี เป็นบุตรของ(มหาฤาษี อังคีระสะ หนึ่งในมหาสัปตฤาษีผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง7) ฤาษีพฤหัส เป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกแขนงมนตรา วิชา และที่ถนัดเป็นพิเศษคือวิชาในการ ให้สติปัญญา สร้างจิตสำนึกที่ดี เปลี่ยนแปลงแก้ไขความชั่วร้ายทั้งหลายให้กลายเป็นความดีงาม สร้างความรักความเข้าใจในสามีภรรยา และครอบครัว และองค์กรต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
3 ฤาษีตาวัว หรืออีกชื่อหนึ่งคือฤาษีหน้าวัว พระนามที่จริงคือ พระนนทิ (พระ-นน-ทิ) นั่นเอง เป็นฤาษีในชั้นเทพ เป็นบริวารองค์สำคัญและยังเป็นพระราชพาหนะของ (องค์พระสดาศิวะมหาเทพ) เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดนตรี การร้อง ฟ้อน รำ เต้น มีศิลปะในการพูดจา เจรจาได้น่าฟังเป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยกย่อง อีกทั้งเป็นที่รักใคร่ของผู้อื่น มีเสน่ห์ ดึงดูดใจเพศหญิงเป็นอย่างดีในภาคนี้มีรูปร่างเป็นมนุษย์ นุ่งห่มหนังเสือดาวสีเหลือง ศีรษะ เป็นวัวหนุ่ม สีขาว สวมประคำหินสีดำ
4 ฤาษีหน้าเสือ หรือพระนามที่จริงคือ ท่านท้าว หิมวัต (หิม-มะ-วัต) เป็นฤาษีในชั้นเทพ เป็นพระราชบิดาของ(องค์พระแม่ปารวตีมหามาตาอุมาเจ้า) เป็นหนึ่งในคณะปติบริวารสำคัญ ของ องค์พระสดาศิวะมหาเทพ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปราบและกำราบศัตรูเก่งกาจในเรื่องการรบ และการปกครองบริวาร ควบคุมดูแลบริวารได้อย่างดีเยี่ยมในภาคนี้มีรูปร่างเป็นมนุษย์ นุ่งห่มหนังเสือโคร่งสีเหลือง ศีรษะเป็นเสือโคร่ง สวมประคำ รุทรากษะ
5 ฤาษีสุตะ เป็นฤาษีในชั้นดิน เป็นศิษย์เอกของ(มหาฤาษีวยาสะหนึ่งในคณะอาจารย์แห่งฤาษีชั้นฟ้าและชั้นดิน) ฤาษีสุตะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับอ่านโศลก และแตกฉานเชี่ยวชาญในปุราณะ ทั้ง 27 ปุราณะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระศิวะปุราณะซึ่งแบ่งออกเป็น 24,000 บาท แยกย่อยได้อีกเป็น 7 สัมหิตา (เรื่องราวโดยสังเขป) ฤาษีสุตะมีรูปกายเป็นชายในสังขารราว60-70ปี ผิวกายขาว ร่างกายทาด้วยขี้เถ้า ไว้เหนวดเครายาวเสมอ อก ผมยาวมุ่นเป็นมวย ผมเผ้าหนวดเคราเป็นสีดำสนิท นุ่งห่มผ้าสีเหลือง,ส้ม คล้องประคำ รุทรากษะ
6 ฤาษีกษิโรธ เป็นฤาษีในชั้นเทพฤาษี ถือได้ว่าเป็นเสมือนบิดาของ(องค์พระมหาลักษมีมาตาเทวีเจ้า ผู้เป็นพระชายาในพระมหาวิษณุผู้เป็นเจ้า) เป็นผู้สันทัดในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ร่ำรวย ด้วยสมบัติ อันมากมาย ฤาษีกษิโรธ ภาคนี่มีรูปเป็นมนุษย์ ศีรษะเป็นพญานาค ผิวกายสุกสว่างเป็นสีขาว นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าเครื่องประดับล้ำค่าดั่งกษัตริย์เป็นสีขาว คล้องประคำไข่มุกสีขาว
7 ฤาษีศิลาท เป็นฤาษีในชั้นดิน เป็นบิดาของ(พระนันทิน หรืออีกนามหนึ่งคือ พระนันทิเกศวร ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะปติของ องค์พระสดาศิวะมหาเทพ) ฤาษีศิลาท เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่า มีบุตรอันยอดเยี่ยม และยิ่งใหญ่ เป็นอภิชาตบุตร อันหาที่เสมอเหมือนมิได้ ฤาษีศิลาท มีรูปกายเป็นมนุษย์ สูงใหญ่ผิวแดง หนวดเคราหนาสีดำสนิท แข็งแรง คล้องประคำรุทรากษะ นุ่งห่มผ้าสีเหลือง,ส้มผมยาวมุ่นเป็นมวย สีเทา
พิธีกรรมทางไสยศาสตร์
(ภาพดวงพิชัยสงครามในอดีตตามลัทธิไสยศาสตร์ การคำนวณตำแหน่งดาวพระเคราะห์ไม่ถูกต้องตามหลักดาราศาสตร์) |
พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ เกี่ยวกับการใช้เวทย์มนต์ เลขยันต์ที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์นั้น มีหลายวิธี เช่น วิธีผูกดวงพิชัยสงครามขึ้นไว้สักการะบูชา รอบๆดวงชะตานั้น จะมีการลงยันต์พิชัยสงครามและคาถาล้อมรอบดวงชะตา แต่ก็เป็นลัทธิไสยศาสตร์ที่ถูกตัดเป็นพุทธศาสตร์แล้ว กล่าวคือ คาถาที่ลงนั้นก็ลงด้วยอักขระพุทธคุณทั้งสิ้น เพียงแต่ถอดเป็นตาม้าหมากรุก หรือถอดเป็นกลบทที่เรียกว่า " อิ ติ ปิ โส 8 ทิศ " คาถา ฆะเตสิ ฯลฯ ในพระธรรมบทคาถา อะโจ ภะ ยะ สิ กะรา วาเต ฯลฯ ในคัมภีร์วชิรสาร และคาถาพระพุทธเจ้า 16 พระองค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นคาถาที่ประพันธ์ขึ้นตามหลักพระพุทธศาสนาทั้งนั้น บางทีก็นำดวงชะตาที่ทำขึ้นนี้ บรรจุใส่ในใต้ฐานพระโพธิ์ปางห้ามสมุทร (แกะสลักด้วยไม้ศรีมหาโพธิ์) บรรจุใส่พระวันเกิด เพื่อหวังจะได้บังเกิดศิริมงคลแก่ดวงชะตา และถ้าจะออกรบจับศึกก็ทำเป็นตะกรุดติดตัวไป เพื่อให้มีชัยชนะในสงคราม จึงเรียกดวงชะตาที่ประกอบขึ้นทางโหราศาสตร์และไสยศาสตร์นี้ว่า " ดวงพิชัยสงคราม " แปลตามความหมายก็ได้ความว่า เป็นสิ่งที่ทำให้มีชัยชนะแก่ข้าศึกนั่นเอง ลัทธิทางพุทธศาสนา ได้ยกย่องปาฎิหารย์ไว้เป็น 2 ประการ คือ อิทธิปาฎิหารย์ ฤทธิ์อันเป็นมหัศจรรย์ประการหนึ่ง อนุสาสนีปาฎิหารย์ คำสอนอันเป็นมหัศจรรย์ประการหนึ่ง สำหรับอิทธิปาฎิหารย์นั้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงยกย่องเท่ากับอนุสาสนีปาฎิหารย์ แม้กระนั้นก็ยังทรงแต่งตั้งให้พระโมคคัลลานะเถระไว้เป็นยอดของพระภิกษุ ผู้มีฤทธิ์และอิทธิปาฎิหารย์ สามารถแสดงฤทธิ์เดชได้เป็นอัศจรรย์ |
ตามทางในพุทธศาสนานี้ ที่แท้จริงก็ได้แก่สิ่งที่เราเข้าใจกันว่า ไสยศาสตร์ในปัจจุบันซึ่งผิดแผกไปจากไสยศาสตร์ในลัทธิพราหมณ์ และมีประโยชน์ที่สำคัญยิ่งต่อมวลพุทธศาสนิกชนทุกคน เพราะเป็นเครื่องน้อมนำให้มั่นคงในอานุภาพของคุณพระรัตนตรัย บันดาลให้หายจากความกลัวต่อภัยอันตรายต่างๆ มีคำของท่านโบราณจารย์ท่านกล่าวไว้ดังนี้
พุทธานุสสะติ อันว่าความตามระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้ามีคณานุภาพมากหลาย ห้ามกันเสียซึ่งความหวาดเสียวต่อภยันตรายต่างๆ มีพุทธภาษิตในธชัคคสูตร แสดงไว้ดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าความกลัวหรือความหวาดเสียว หรือขนพองสยองเกล้าเกิดแก่ท่านผู้ไปสู่ป่าก็ดี สู่โคนต้นไม้ก็ดี สู่เรือนเปลี่ยวก็ดี สมัยนั้นท่านทั้งหลาย พึงตามระลึกถึงเราอย่างนี้ว่า
" อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิสัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธภะคะวาติ "
เมื่อท่านทั้งหลายตามระลึกถึงเราอยู่ ความหวาดกลัวหรือความหวาดเสียว หรือขนพองสยองเกล้าจักหายไป เพราะตถาคตเป็นอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ไม่กลัวไม่สะดุ้ง ไม่ตกใจ ไม่หนี
ตามระลึกถึงพระพุทธคุณ หรือการภาวนาคาถา "อิติปิโส" มีคุณานุภาพตามที่ท่านได้กล่าวมานี้ ฉะนั้นท่านโหราจารย์แต่ปางก่อน ท่านจึงได้น้อมนำเอาพระคาถา "อิติปิโส" มาประกอบกับดวงชะตาจัดทำเป็นดวงพิชัยสงคราม เพื่อสร้างศิริมงคลและคุ้มครองป้องกันอันตรายให้แก่เจ้าชะตา และเมื่อถีงคราวดวงชะตาเข้าสู่เกณฑ์ร้าย ตามที่เรียกว่า ต้องฆาตทั้งลัคน์และจันทร์ ก็ได้น้อมนำเอาพระพุทธคุณ และพระปริตมาเป็นคาถาสวดปัดเป่า บรรเทาเคราะห์ให้หายไปตามนัยแห่งเรื่อง "อายุวัฒณกุมาร" ซึ่งได้ยกมากล่าวอ้างไว้นั้น เพราะความสำคัญดังนี้ ในหลักสูตรการเรียนโหราศาสตร์ ท่านจึงบรรจุหลักการเกี่ยวกับการใช้คาถาอาคม สำหรับปัดเป่าเคราะห์ร้ายที่จะบังเกิดขึ้น ในดวงชะตาหรือเพื่อส่งเสริมดวงชะตา ให้ประสบความเจริญรุ่งเรือง เข้าไว้ในหลักสูตรชั้นสูงของวิชาโหราศาสตร์ ซึ่งท่านที่จะผ่านการเป็นโหรครบถ้วนสมบูรณ์แบบ จำเป็นจะต้องเล่าเรียนให้รู้ไว้ เพราะเป็นวิชาการใช้คาถาอาคม เลขยันต์ หรือที่เรียกว่า "ไสยศาสตร์ " นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เกี่ยวพันกับวิชาโหราศาสตร์อยู่ตลอดไป อาทิเช่น จะทำดวงพิชัยสงครามขึ้นสักดวงหนึ่ง ถ้าปราศจากความรู้ในทางไสยศาสตร์แล้ว ก็ไม้สามารถที่จะจารึกอักขระมนต์ในแผ่นดวงได้เลย
ตามที่ได้กล่าวถึงไสยศาสตร์มาแล้วนี้ กล่าวเฉพาะเพียงผิวเผิน แต่ถ้าจะกล่าวลงไป ให้ลึกซึ้งถึงแก่นของความจริงแล้ว คำว่า "ไสย" นั้น แปลตามรูปศัพท์ว่า ประเสริฐ ฉะนั้น คำว่า ไสยศาสตร์ ก็คือ ศาสตร์อันประเสริฐ หรือวิชาอันประเสริฐนั่นเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากพลังสมาธิจิต ซึ่งจัดว่าเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักฟิสิกส์และเคมี ขอได้โปรดพิจารณาหลักการที่สำคัญในพระพุทธศาสนา จุดสำคัญอยู่ที่การอบรมสมาธิจิตเป็นหัวข้อใหญ่ ตามหลักพุทโธวาท ซึ่งทรงแสดงไว่ว่า
"สะมาธิ ภิกเวถะ สะมาหิโต ยะถาภูตังประชานาติ" แปลความว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงยังสมาธิให้เกิด ชนผู้มีจิตเป็นสมาธิ ย่อมรู้ตามความเป็นจริง
การอบรมจิตให้เป็นสมาธิ ตามหลักในพระพุทธศาสนา ดำเนินเป็นขั้นๆไป เริ่มตั้งแต่ฌาณก่อน เมื่อเจริญฌาณแก่กล้าแล้ว จึงเลื่อนอันดับเข้าถึงวิปัสสนาญาณ อันเป็นญาณอันดับต้นในวิชา 8 ประการ
การที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงปาฎิหารย์ให้ปรากฎเห็นได้เป็นอัศจรรย์ ก็เพราะเหตุที่พระองค์ท่านทรงเพรียบพร้อมด้วยวิชา 8 ประการนี้ สมดังคาถาสรรเสริญถึงพระพุทธคุณที่ว่า "วิชชาจะระณะสัมปันโน" ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชา 8 และจะระณะ 15
วิชา 8 ประการ ตามที่กล่าวมา คือ
1 วิปัสสนาญาณ (ญาณอันนับเข้าไปในวิปัสสนา)
2 มโนยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ)
3 อิทธิวิธี (แสดงฤทธิ์ได้)
4 ทิพยโสต (หูทิพย์)
5 เจโตปริยญาณ (รู้กำหนดใจผู้อื่น)
6 ปุพเพนิวาสนุสสติ (ระลึกชาติได้)
7 ทิพยจักขุ (ตาทิพย์)
8 อาสวักขยญาญาณ (รู้จักกำจัดอาสวะให้สิ้นไป)
วิชาทั้ง 8 ประการ เมื่อตรวจดูแล้ว ในข้อที่ 6 คือ ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ การระลึกชาติได้ ทำให้นึกถึงวิชาโหราศาสตร์ โหราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สามารถใช้พยากรณ์เหตุการณ์ในปัจจุบันได้ สามารถจะพลิกฟื้นไปตรวจดูกรรมเก่าในอดีตชาติได้ และศาสตร์อันประเสริฐที่เกิดจากพลังทางสมาธิจิต หรือไสยศาสตร์นั้น ก็สามารถที่จะหยั่งรู้ถึงกรรมเก่าในอดีตชาติได้
ฉะนั้นศาสตร์ทั้งสองนี้ จึงเป็นสิ่งที่พัวพันกันอยู่ โดยมีท่วงทำนองความเป็นไปคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันที่ว่า สามารถหยั่งพยากรณ์ลงไปได้ตื้นลึกกว่ากันเท่านั้น ซึ่งพอที่จะอนุมานได้ว่า โหราศาสตร์ คือ บันไดขั้นแรกของไสยศาสตร์นั่นเอง
http://www.horasaadrevision.com